วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มอบหมายให้ นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (ด้านสังคม) เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี ๒๕๖๘ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้แทน อัยการ ศาล ทหาร ตำรวจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธีฯ โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. ผู้แทนส่วนราชการกระทรวงต่างๆ และผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ทยอยวางพวงมาลา เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนเสร็จสิ้น จากนั้น ประธานในพิธีและผู้ร่วมในพิธีแสดงความเคารพ ประธานวางพวงมาลา และจุดเครื่องทองน้อย หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสร็จแล้ว กล่าวถวายรายสดุดี จบแล้ว ผู้ร่วมพิธีถวายความเคารพ เป้นอันเสร็จพิธีฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๘ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดีตามข้อตกลงทางการเมืองระหว่างอยุธยาและพม่า ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นได้หล่อหลอมให้พระองค์มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญพระชนมายุและเสด็จกลับสู่แผ่นดินไทย พระองค์ทรงเริ่มมีบทบาทในกิจการทหารและการปกครอง และในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ พระองค์ได้ประกาศอิสรภาพจากพม่าที่เมืองแครง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเอกราชของชาติไทยอย่างแท้จริง และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่จารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์คือ "ยุทธหัตถี" กับพระมหาอุปราชา แห่งพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นฝ่ายมีชัย และถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องเอกราชของชาติไทย พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย พระองค์เป็นที่ยกย่องในฐานะวีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่า และทรงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรอยุธยาในยุคที่ประเทศชาติเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอก ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงทุ่มเททั้งพระวรกายและพระปรีชาสามารถเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชาติ รวมถึงการยกทัพตีพม่าในหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ พระองค์เสด็จสวรรคต ณ เมืองหาง (ในปัจจุบันคือประเทศเมียนมา) ขณะยกทัพไปยังดินแดนพม่า พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ได้รับการประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง